top of page
ประวัติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

          ยุคสมัยที่ประเทศสยามถูกภัยทางการเมืองคุกคาม โดยระบบล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจ หลวงวิจิตรวาทการ ขณะนั้น ได้ย้ายจากกระทรวงการต่างประเทศมารับตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร เป็นคนแรก และได้เล็งเห็นว่า นโยบายที่จะช่วยแก้ไขสถานการณ์คับขันได้คือ “ชาตินิยม” เพราะการปลุกใจให้คนไทย รักชาติ จะสามารถ สร้างความรัก สามัคคีและเสียสละ ให้เกิดขึ้นได้ในหมู่ชนชาติ สื่อที่จะเข้าถึงประชาชนได้ดีที่สุด ก็คือละครเพลง จึงได้ก่อตั้ง“ โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์” ได้ทำการเปิดสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ. ศ.2477 โดยใช้สถานที่รอบพระอุโบสถ์วัดบวรสถานสุทธาวาส(วังหน้า)ทำการเรียนการสอน ต่อมาทางรัฐบาลโดยกระทรวงธรรมการได้อนุมัติให้กรมศิลปากรจัดตั้ง โรงเรียนศิลปากรขึ้น (ต่อมาคือ มหาวิทยาลัยศิลปากร) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2478 โดยแต่งตั้ง พระสาโรชรัตนิมมานก์เ ป็นผู้อำนวยการ โดยได้รวมเอาโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์เข้าไว้ด้วย โดยมี 3 แผนก ได้แก่ แผนกประณีตศิลปกรรม แผนกศิลปะอุตสาหกรรมและแผนกนาฏดุริยางค์ ในส่วนแผนกนาฏดุริยางค์นั้น ให้ใช้ที่ตั้งเดิมคือรอบพระอุโบสถ์วัดบวรสถานสุทธาวาส(วังหน้า)เป็นที่ทำการเรียนการสอนอย่างเดิม โดยมีหลวงวิจิตรวาทะการ และ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง พร้อมกันนั้นยังได้ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ให้ทรงออกแบบตราโรงเรียนให้ ในปี พ.ศ.2488 แผนกนาฏดุริยางค์ ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น โรงเรียนนาฏศิลป์

          ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้กล่าวว่า “.....การศึกษาศิลปะ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 ปี แต่ในระดับปริญญาตรี ต้องใช้เวลา 5 ปี...” และได้ริเริ่มจัดตั้ง "โรงเรียนศิลปศึกษา " เป็นโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร ขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2595 ซึ่งเป็นโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร และเปลี่ยนมาสังกัดกรมศิลปากร ในปีพ.ศ. 2500 มีที่ตั้งอยู่ที่บริเวณฝั่งตะวันออกของพระอุโบสถของวัดบวรสถานสุทธาวาส โดยใช้อาคารที่ทำการกระทรวงคมนาคมเดิม จนถึงปี 2521 จึงได้ย้ายไปอยู่ที่เขตลาดกระบังในปัจจุบัน

          พ.ศ. 2541 กรมศิลปากรได้จัดตั้ง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ขึ้น ซึ่งเป็นนามพระราชทานที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานแก่สถาบัน ซึ่งหมายถึง สถาบันผลิตบัณฑิตทางศิลปะแห่งความเจริญ เป็นการยกระดับการศึกษาด้านดุริยางคศิลป์ และช่างศิลป์ เพื่อนำศิลปะมาพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติ จัดการศึกษาระดับปริญญาตรีในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์  พ.ศ.2541 กำหนดให้เป็นสถานศึกษาสังกัดกรมศิลปากร จัดการศึกษาถึงระดับปริญญาตรี

          สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ได้แยกออกจากกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2550  ยกฐานะขึ้นเป็นนิติบุคคลสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ตามพระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2550 โดยมีเนื้อหา และ หลักการ ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เหตุผลโดยที่กฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติกำหนดให้จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้จัดในมหาวิทยาลัย สถาบัน วิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น และให้สถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาระดับปริญญาเป็นนิติบุคคล สามารถดำเนินกิจการได้โดยอิสระ พัฒนาระบบบริหาร และการจัดการที่เป็นของตนเอง มีความคล่องตัว มีเสรีภาพทางวิชาการ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษานั้นๆ สมควรมีกฎหมายรับรองให้สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์มีฐานะเป็นนิติบุคคลในกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อจัดการศึกษาด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ และช่างศิลป์ สืบทอด สร้างสรรค์ ศิลปะและมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ และส่งเสริมการผลิตบุคลากรเพื่อทำหน้าที่ช่างศิลปกรรม ศิลปินอาชีพ ครูศิลปะ นักวิชาการ และนักวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนส่งเสริมสุนทรียศาสตร์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นและระดับชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ

          หน่วยงานในการควบคุมดูแลของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ มีทั้งหมด 19 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย

                   1.ส่วนกลาง จำนวน 4 หน่วยงาน ได้แก่

                         1.1   สำนักงานอธิการบดี

                         1.2   คณะศิลปวิจิตร

                         1.3   คณะศิลปนาฏดุริยางค์

                         1.4   คณะศิลปศึกษา

                   2. วิทยาลัยนาฏศิลป จำนวน 12 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย

                         2.1   วิทยาลัยนาฏศิลป (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม)

                         2.2   วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี

                         2.3   วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง

                         2.4   วิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี

                         2.5   วิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี

                         2.6   วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย

                         2.7   วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่

                         2.8   วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา

                         2.9   วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด

                         2.10 วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์

                         2.11 วิทยาลัยนาฏศิลปพัทลุง

                         2.12 วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช

                 3. วิทยาลัยช่างศิลป จำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่

                         3.1   วิทยาลัยช่างศิลป (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ)

                         3.2   วิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรี

                         3.3   วิทยาลัยช่างศิลปนครศรีธรรมราช

 

          ตามพระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2550 เพื่อยกฐานนะขึ้นเป็นนิติบุคคลโดยได้แยกออกจากกรมศิลปากร แต่ยังสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมตามเดิม เพื่อจัดการศึกษาด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ และช่างศิลป์ นับเป็นสถาบันของชาติแห่งแรกที่ให้การศึกษาทั้งวิชาสามัญและวิชาศิลปะ ต่อมาทางสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ได้จัดการศึกษาถึงระดับปริญญาตรี โดยเพิ่มหน่วยงาน ส่วนกลาง ที่เป็นระดับปริญญาตรี ได้เพิ่มหน่วยงานในสังกัดอีก 4 หน่วยงานประกอบไปด้วย สำนักงานอธิการบดี  คณะศิลปวิจิตร คณะศิลปนาฏดุริยางค์ และ คณะศิลปศึกษา รวมถึงหน่วยงานในการควบคุมดูแลในส่วนภูมิภาค ทั้งหมด 19 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย วิทยาลัยนาฏศิลปะ จำนวน 12 หน่วยงาน และ วิทยาลัยช่างศิลป์ จำนวน 3 หน่วยงาน จากการเพิ่มหน่วยงานดังกล่าว เกิดปัญหาเรื่องพื้นที่รองรับการเรียนการสอน ซึ่งปัญหานี้ได้มีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2477  

           ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

          หม่อนฉันได้รับจดหมายหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ฉบับ ๑ “เธอ”ปรึกษาความรู้ของหม่อมฉันเรื่องนาฏศาสตร์ ความในจดหมายนั้นอ่านดูเห็นเป็นเรื่องพิลึกกึกกือเห็นควรจะคัดส่งมาถวายได้ จึงได้คัดลงในฉบับนี้ด้วย“ปีนี้เผอิญมีงานเกี่ยวแก่ทางพิพิธภัณฑสถานมากจริงๆเสียด้วย แต่มิใช่งานของพิพิธภัณฑ์ เป็นงานของกรม คือกรมศิลปากรได้รับอนุมัติจากกระทรวงธรรมการให้ตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ขึ้นเป็นโรงเรียนอาชีพ ตัวโรงเรียนจะสร้าง(บังหน้าโรงราชรถ)ที่สนามข้างเหนือพระที่นั่งพุธไธสวรรย์ ตรงหน้าพระที่นั่งมังคลาภิเษกออกไป โรงฝึกซ้อมละครจะสร้างขึ้น(มิให้ไก่บินตก)ที่สนามต้นปีบ ระหว่างโรงราชรถกับพระที่นั่งอิศราฯแต่ระหว่างที่โรงเรียนยังไม่แล้วนี้ให้อาศัยพระที่นั่งอิศเรศรฯเป็นโรงเรียนชั่วคราวก่อน โรงเรือนด้านล่าง(โรงรถเดิม)เป็นชั้นประถม ชั้นบนพระที่นั่งอิศเรศรฯเป็นชั้นมัธยม ต้อง(เลิกห้องพิพิธภัณฑ์)เอาของที่จัดแสดงไว้ไป(ซุกซ่อน)แทรกที่อื่นๆชั่วคราว ให้เอาศาลาสำราญมุขมาตย์เป็นที่ฝึกซ้อมชั่วคราว ต้องทำเวทีและใส่ผ้าม่านให้ เวลานี้รับนักเรียน(ซึ่งสำคัญว่าจะได้เงินเดือนหรือเบี้ยเลี้ยง)ได้มากแล้ว โรงเรียนจะเปิดเร็วๆนี้”[1]

          กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

          เรื่องโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ เกล้ากระหม่อมเคยเห็นเขาลงโครงการในหนังสือพิมพ์มาก่อนได้อ่านอย่างลวกๆโดยมิได้เอาใจใส่ ก็เห็นว่าความพิสดารมาก แต่รู้สึกว่าที่สุดแห่งผลคงจะได้ละครกำๆแบๆเป็นอย่างที่สุด

          เมื่อมาเห็นรายละเอียดในถ้อยคำหลวงบริบาลฯ ค่อนข้างตกใจ ทำไมจึงเอาโรงเรียนละครไปแทรกในพิพิธภัณฑ์สถานดูเป็นการไม่เหมาะสมเลย....[2]

          หลังจากนั้นโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ จึงได้ตั้งอยู่ที่บริเวณโดยรอบพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ส่วนโรงเรียนศิลปศึกษา ต่อมาคือ วิทยาลัยช่างศิลป์ ได้ใช้ตึกกระทรวงคมนาคม เดิม (ปัจจุบันได้รื้อถอนสร้างเป็นโรงละครแห่งชาติ) จนถึงปี ๒๕๒๑ จึงได้ย้ายไปอยู่ที่เขตลาดกระบัง

          วิทยาลัยนาฏศิลป์ซึ่งจัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาก็ได้ทำการย้าย ตามราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงวัฒนธรรม เรื่อง สถานที่ตั้งของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์โดยมีเนื้อหา คือ ให้สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ มีสถานที่ตั้ง อยู่ ที่ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัด นครปฐม และ ในระหว่างการปรับปรุงสถานที่ตั้งนั้น ให้ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ตั้งอยู่ที่ สถานที่ตั้งในปัจจุบัน ทำให้หน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ตั้งอยู่คนละพื้นที่ คณะศิลปนาฏดุริยางค์ และ คณะศิลปศึกษาตั้งอยู่ที่เดิม(รอบพระอุโบสถ วัดบวรสถานสุทธาวาส ส่วน คณะศิลปวิจิตรและสำนักงานอธิการบดี ได้ย้ายตาม วิทยาลัยนาฏศิลป์ไปที่ ต.ศาลายา

 

[1] พูลพิศ  อมาตยกุล,เพลงดนตรี และ นาฏศิลป์ จาก สาส์นสมเด็จ (กรุงเทพฯ......

[2] เรื่องเดียวกัน

original_w014w.jpg
bottom of page